การวาดลายเส้น

นาย สมชาย ดิษฐาภรณ์
สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                  เป็นพื้นฐานของการวาดภาพเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับศิลปะแขนงต่างๆเป็นการศึกษาและฝึกสังเกตละเอียดในรูปทรงของสิ่งต่างๆ ที่เป็นทั้งรูปทรงธรรมชาติ และรูปทรงที่มนุษย์สร้างขึ้นมา รายละเอียดดังกล่าว อาทิ โครงสร้างภายในรูปทรง รูปลักษณะเฉพาะตัวของรูปทรง รวมถึงลักษณะผิว ความเข้มอ่อนของสีผิว ปริมาณของแสงที่ทำให้เกิดน้ำหนักมืดสว่างภายในรูปทรงที่ทำให้มองเห็นรูปทรงเกิดมิติ การฝึกทักษะการวาดภาพลายเส้นสามารถทำได้หลายวิธีการหลายเทคนิค ขึ้นยู่กับว่าเป็นการฝึกเพื่อวัตถุประสงค์การศึกษาในด้านใด เช่น การวาดเส้นแบบฉับไว (Sketch Drawing) เป็นการวาดเส้นเพื่อฝึกสังเกตลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆโดยภาพรวมไม่เน้นรายละเอียดมากนัก  การวาดเส้นเหมือนจริง (Realist Drawing) เป็นการวาดภาพที่ต้องการความเหมือนจริงทั้งทางกายภาพ และเหมือนจริงในอารมณ์ ความรู้สึก (Emotion and Feeling)  การวาดเส้นที่มุ่งเน้นศึกษาและแสดงในรายละเอียดทางกายภาพของวัตถุเป็นสำคัญ (Rendering) เพื่อฝึกสังเกตว่าวัตถุต่างๆที่ศึกษานั้น มีลักษณะรายละเอียดเฉพาะของรูปทรง ลักษณะผิว ค่า น้ำหนักแสงเงาเป็นเช่นไร การการวาดภาพลายเส้นสร้างสรรค์ (Creative Drawing) เป็นการการวาดภาพลายเส้นในลักษณะไม่เหมือนจริงตามธรรมชาติ เพื่อฝึกให้นักศึกษาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ธรรมชาติมาเป็นต้นแบบ แล้วนำมาคลี่คลายจากความเป็นจริงไปสู่รูปแบบต่างๆ เช่น การวาดภาพลายเส้นเหมือนจริงแต่เติมรายละเอียดเนื้อหาให้เกินความจริง (Surrealist) การวาดภาพลายเส้นกึ่งนามธรรม (Semi-abstract) หรือการวาดภาพลายเส้นนามธรรม (Abstract)
สำหรับนักศึกษาสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การฝึกวาดเส้นต้องฝึกทั้งการวาดเส้นเหมือนจริงอย่างละเอียด และฝึกวาดเส้นสร้างสรรค์ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกสังเกตรูปทรงของวัตถุ โครงสร้าง มิติ หรือผิวสัมผัสต่างๆจนชำนาญ แล้วฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบใหม่ๆอยู่เสมอ

การวาดเส้นศึกษาพันธุกรรมพืช
เป็นส่วนหนึ่งที่จะให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการวาดเส้นอย่างละเอียดเหมือนจริง ฝึกสังเกตลักษณะเฉพาะของพรรณพืช รวมถึงโครงสร้างของพืช มิติ แสง-เงา พื้นผิวต่างๆ เป็นพื้นฐานให้นักศึกษานักออกแบบเป็นนักสังเกต ใส่ใจกับรายละเอียดอย่างรอบคอบ ใจเย็น ประณีต เพราะในรายละเอียดของสิ่งต่างๆนั้น คือสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลทั้งทางตรง และทางอ้อมที่ละเลยเสียมิได้ การวาดเส้น
พรรณพืชเริ่มด้วยการให้นักศึกษาออกหาพรรณพืชหุ่นต้นแบบที่นักศึกษาสนใจเสียก่อน  คือพืชชนิดต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวในสถานศึกษา

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการวาดเส้น
               การเตรียมอุปกรณ์ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในการวาดเส้น เพราะมีอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นก็สามารถวาดรูปได้แล้ว อันดับแรก ต้องมี กระดาษ สำหรับวาดภาพ โดยส่วนใหญ่มักใช้กระดาษสีขาว ผิวกระดาษที่เรียบเนียนจะช่วยให้สามารถวาดเส้นเก็บรายละเอียดได้อย่างดี กระดานรองวาดภาพ ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยนำกระดาษมาติดบนกระดาน

                                               

 

 

ดินสอ   คือสิ่งสำคัญที่จะถ่ายทอดลักษณะพรรณพืชให้มาอยู่ในกระดาษ ควรเป็นดินสอชนิดไส้อ่อน ตั้งแต่ดินสอ 2B ขึ้นไปจนถึง EE  เพราะดินสอชนิดไส้อ่อนจะสามารถให้น้ำหนักเส้นตั้งแต่อ่อนที่สุดจนถึงเข้มที่สุดได้หลายค่าน้ำหนัก และสำหรับการวาดเส้นเก็บรายละเอียดสูงนั้นดินสอควรมีปลายเรียวแหลมอยู่เสมออาจต้องมีมีดคัตเตอร์ใว้เหลาดินสอพกติดตัวสักเล่มหนึ่งหรือไม่ก็เตรียมดินสอไว้หลายๆด้าม ยางลบ ก็เป็นสิ่งจำเป็นในขั้นตอนการร่างภาพ และแต่งเก็บรายละเอียด อุปกรณ์เพียงเท่านี้ก็วาดภาพได้แล้ว

 

เริ่มต้นวาดเส้นคือการร่างภาพ

สังเกตหุ่นต้นแบบว่ามีลักษณะโดยรวมว่ามีลักษณะเรียวสูง หรือราบในแนวนอน เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะวางกระดาษวาดรูปในแนวตั้งหรือแนวนอนดีกว่ากัน ทีนี้ลองจัดภาพให้หุ่นพรรณพืชโดยรวมอยู่ในหน้ากระดาษอย่างพอดี ไม่โตจนส่วนที่สำคัญติดขอบกระดาษจนอึดอัด หรือเล็กเกินไปจนมีที่ว่างเบาเหวง โดยการร่างเส้นโดยรวมอย่างคร่าวๆบนหน้ากระดาษให้พอดี และสมดุล อย่าลืมจัดมุมภาพให้สวยงามด้วย สิ่งที่น่าสนใจหรือต้องการเน้นเป็นพิเศษในภาพควรอยู่ประมาณกึ่งกลางของภาพ ตัวอย่างในที่นี้ คือต้นต้อยติ่ง ส่วนสำคัญคือดอกสีม่วงที่กำลังบานอย่างเต็มที่ จึงจัดให้ดอกอยู่ในมุมที่สวยที่สุดโดยการแบ่งกึ่งหน้ากระดาษทั้งแนวตั้งและแนวนอนเพื่อหาความสมดุลในด้านต่างๆ จัดส่วนดอกให้อยู่ใกล้กึ่งกลางเยื้องขวาบนเล็กน้อย ที่เหลือเป็นส่วนประกอบอื่นของภาพจัดเฉลี่ยในทิศทางต่างๆให้สมดุล เริ่มต้นร่างรายละเอียดของดอก ก้าน ใบ ด้วยน้ำหนักเส้นเบาๆเพราะเส้นเบาจะสามารถลบแก้ไขได้ง่ายโดยสังเกตลักษณะของพืชนั้นๆเช่นลักษณะกลีบดอก ก้าน ใบ ขนาด อ้วน เรียว เป็นต้น ร่างตามรูปแบบที่จัดวางหน้ากระดาษไว้แต่ทีแรก

 การแรเงา

การแรเงา คือการสร้างค่าน้ำหนักเข้ม อ่อนให้กับรูปทรง จนถึงรายละเอียดขั้นสุดท้ายก็เกิดจากการแรเงาให้ภาพมีน้ำหนักจนมองเห็นเป็นมิติของรูปทรง การแรเงาอาจทำได้หลายวิธีตามความถนัด และความพอใจส่วนตัวของผู้วาด ซึ่งไม่ว่าจะแรเงาด้วยวิธีการใดหากทำให้ภาพนั้นสวยงามตามความต้องการอย่างสมบูรณ์แล้วถือเป็นใช้ได้

 วิธีการแรเงาอาจทำได้ด้วยวิธีการต่างๆดังเช่น วิธีการแรเส้นไขว้ในแนวเฉียง มักเป็นวิธีที่ถนัดของคนทั่วไป การลากเส้นในแนวเฉียงออกจากร่างกายในด้านที่ตนถนัดจะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การแรเส้นแนวตั้งและแนวนอนตัดกัน ก็จะทำให้เกิดค่าน้ำหนักที่สวยงามและแปลกตาอยู่เหมือนกัน การแรเส้นหมุนวนปลายดินสอ วิธีการการนี้จะสามารถควบคุมพื้นที่ และเก็บรายละเอียดได้ดีทีเดียว การแรเส้นซิกแซกแบบไม่มีทิศทาง วิธีนี้จะให้ผลคล้ายแบบหมุนวนเพียงแต่เส้นจะดูแข็งแต่เมื่อดูภาพรวมแล้วก็สวยแปลกตาดี การแรเกลี่ยเรียบไม่มีเส้น วิธีนี้จะทำให้ภาพดูนุ่มนวล เรียบเนียน ดูกลมกลืนได้ง่าย แต่อาจดูธรรมดาสักหน่อย และอาจมีวิธีอื่นๆนอกเหนือจากที่แนะนำแล้วแต่ความถนัดและความชอบดังกล่าวข้างต้น

 สร้างน้ำหนักสีผิวของหุ่น
ส่วนต่างๆในหุ่นต้นแบบอาจมีน้ำหนักสีที่ต่างกัน เช่น ดอกไม้สีเหลืองมีน้ำหนักอ่อน ดอกไม้สีม่วงมีน้ำหนักเข้มกว่า เป็นต้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นการแรเงาเรียบเต็มพื้นที่ในส่วนต่างๆของภาพให้มีน้ำหนักต่างกันไปตามหุ่นต้นแบบ ไม่ต้องไล่ค่าน้ำหนักในรูปทรงแต่อาจเว้นส่วนที่เป็นแสงจัดตกกระทบวัตถุโดยไม่ต้องแรเงา ในที่นี้ภาพดอกต้อยติ่ง มีดอกสีม่วงกลาง กับใบสีเขียวมีค่าน้ำหนักที่ใกล้เคียงกันมากจึงไม่สามารถแยกค่าน้ำหนักที่แตกต่างกันได้

การสร้างมิติในภาพ
แสง คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุ ถ้าไม่มีแสงเราก็ไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ เช่นเดียวกันถ้ามีแสง แต่ไม่มีเงามืด เราก็ไม่สามารถมองเห็นมิติของวัตถุได้เช่นกัน (ลองเอากล่องสีขาวมาวาง แล้วใช้ไฟส่องทุกด้าน โดยให้ปริมาณความเข้มของแสงเท่ากันทุกด้าน เราจะมองเห็นมิติของกล่องใบนั้นได้ยากมาก)ฉะนั้นที่เราสามารถมองเห็นมิติของรูปทรงได้อย่างชัดเจนก็เพราะในธรรมชาติแสงที่ส่องมากระทบวัตถุต่างๆ มักอยู่ด้านใดด้านหนึ่งเสมอตามทิศทางของดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟ หากมีแสงเข้ามากกว่าหนึ่งด้านซึ่งอาจเกิดจากแสงสะท้อน (Reflect) ก็จะมีปริมาณความเข้มของแสงที่น้อยกว่า และเมื่อแสงตกกระทบวัตถุในทิศทางหนึ่งก็จะทำให้วัตถุนั้นรับแสงในด้านต่างๆที่ไม่เท่ากัน ด้านที่อยู่ทิศทางเดียวกับแสงก็จะรับแสงมากทำให้วัตถุสว่าง ด้านที่ขนานกับแสงจะรับแสงน้อยกว่าก็จะสว่างน้อย ส่วนด้านที่อยู่ทิศทางตรงข้ามกับแสงก็จะรับแสงน้อยที่สุด วัตถุด้านนั้นก็จะมืดมาก ในบริเวณที่ลึกหรือซอกต่างๆแทบจะไม่ได้รับแสงเลย ปริมาณแสงตกกระทบที่ต่างกันนี้ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแสงแดดจัด จะทำให้ค่าน้ำหนักด้านต่างๆบนวัตถุแตกต่างกันมาก วัตถุก็จะเห็นได้ชัด มีมิติมาก ถ้าหากหุ่นต้นแบบอยู่ในห้องที่มีปริมาณแสงน้อย ความแตกต่างของน้ำหนักแสงบนวัตถุมีก็มีน้อย ภาพก็จะเกิดมิติน้อยเช่นกัน

  การสร้างมิติภายในรูปทรง คือการแรเงาวัตถุให้มีความแตกต่างของค่าน้ำหนักเข้ม อ่อน ตามทิศทางของแสงที่ตกกระทบลงบนวัตถุ โดยผู้วาดภาพจะต้องสังเกตว่าปริมาณแสงโดยรวมเข้ามาในทิศทางใดมากที่สุด และภาพนั้นจะต้องมีลักษณะแสงเงาตกกระทบในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งภาพเสมอ บริเวณที่แสงตกกระทบมากที่สุดจะมีค่าน้ำหนักอ่อนมาก แทบไม่ต้องแรเงาเลยก็ได้ เรียกว่า แสงสว่างสุด (High Light) มักเกิดในที่โค้งนูนในด้านแสง ส่วนที่รับแสงโดยทั่วไปก็จะแรเงาน้ำหนักอ่อนๆ ส่วนที่รับแสงน้อย หรือด้านตรงข้ามกับแสงก็จะแรเงาให้เข้มขึ้นตามลำดับปริมาณการรับแสงที่น้อยลง ส่วนที่รับแสงน้อยที่สุด (Dark shade) ก็จะแรเงาให้เข้มที่สุด ถ้าแรเงาได้ตามนี้รูปทรงในส่วนต่างๆของภาพก็จะเกิดมิติ สวยงามสมจริงดังต้องการให้เป็น
การสร้างมิติเชิงทัศนียภาพ คือการแรเงาวัตถุในระยะต่างๆให้มีน้ำหนักเข้มอ่อนต่างกัน โดยปกติแล้วการมองเห็นของมนุษย์นั้น วัตถุที่อยู่ใกล้จะมองเห็นความแตกต่างของค่าน้ำหนักได้อย่างชัดเจน รวมถึงรายละเอียดในรูปทรง ส่วนวัตถุที่อยู่ไกลออกไปจะมองเห็นความแตกต่างของค่าน้ำหนักได้น้อยลง หรือมีน้ำหนักในรูปทรงที่ใกล้เคียงกันทำให้เห็นมิติได้น้อยลง รวมถึงรายละเอียดก็จะน้อยลงด้วยตามระยะทางที่ต่างกัน

การสร้างมิติในภาพควรมี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ

1. การสร้างมิติภายในรูปทรง     2. การสร้างมิติเชิงทัศนียภาพ

เพราะฉะนั้นการสร้างมิติเชิงทัศนียภาพ จะต้องมีเทคนิคในการลวงตาเพื่อให้ภาพนั้นดูเหมือนจริงและมีมิติมากที่สุด คือวัตถุที่อยู่ใกล้ตาหรือในส่วนสำคัญของภาพ ควรจะแรเงาให้มีความเข้มอ่อนชัดเจน มีค่าความต่างระหว่างแสงกับเงาให้มาก มีรายละเอียดในภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเก็บรายละเอียดในภาพได้ ส่วนในระยะที่ไกลออกไป(มักเป็นองค์ประกอบเพื่อให้ภาพเกิดความสมบูรณ์) ก็จะแรเงาเพียงเบาๆ มีแสงเงาเล็กน้อย น้ำหนักใกล้เคียงกัน มีรายละเอียดนิดหน่อยก็พอ อย่างไรก็แล้วแต่ภาพที่ดีและสมบูรณ์สวยงามควรมีระยะในภาพอย่างน้อย 2-3 ระยะ เพื่อเป็นการให้เกิดที่ว่างและมีอากาศระหว่างระยะต่างๆ

สุดท้ายด้วยการเก็บรายละเอียด
การเก็บรายละเอียดในภาพเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่จะทำให้ภาพเกิดความสมบูรณ์เหมือนจริงตามลักษณะเฉพาะของหุ่นต้นแบบ ในที่นี้ภาพดอกต้อยติ่งก็มีรายละเอียดมากมายให้เราได้นั่งสังเกตกัน กลีบดอกต้อยติ่งจะมีรอยยับเป็นริ้วเล็กๆทั่วไปทั้งดอก ขอบกลีบดอกเป็นขยัก (ต้องมองใกล้ๆ) ลักษณะเม็ดที่สุกแล้วจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ มีรอยแตกตามยาวของเม็ด 3 เส้นซึ่งพร้อมจะแตกให้เมล็ดกระเด็นออกมาขยายพันธ์เมื่อถึงเวลา ลักษณะใบของต้อยติ่งค่อนข้างเรียบมัน มีก้านใบสีเขียวอ่อนกว่าใบเล็กน้อยเป็นเส้นเรียวอย่างเรียบร้อยไปสู่ปลายใบ ตามข้อต่อต่างๆของโคนใบจะมีใบอ่อนเล็กๆเกิดขึ้นมาอย่างน่ารัก ผู้วาดจะต้องใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้ภาพที่เราได้มามีรายละเอียดครบถ้วน และได้คุณค่าบางอย่างจากธรรมชาติ เป็นการบันทึกภาพที่สามารถเก็บรายละเอียดของสิ่งต่างๆภายในภาพเดียวได้ดีกว่าการถ่ายรูปยิ่งนัก