เครื่องเรือน/เฟอร์นิเจอร์

ผศ.บุญศักดิ์ สมบุญรอด
สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องเรือนและออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เครื่องเรือน  หมายถึง  เครื่องตกแต่งบ้านพักอาศัยหรืออาคารมีประโยชน์ใช้สอย  มีความสะดวกสบายในการใช้  เครื่องเรือนในสมัยก่อนมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีพ  แต่ในปัจจุบันเครื่องเรือนยิ่งมีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ  สนองความสุขทางกายและใจ  อันจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง


ลักษณะของไม้ธรรมชาติ
ไม้เป็นวัสดุที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ผลิตเครื่องมือ  เฟอร์นิเจอร์  ที่พักอาศัย  ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน  จนไม่สามารถนับได้ว่านำมาใช้กันนานเท่าใด  อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เกิดมาก็รู้จักกับไม้  ไม้ที่โค่นออกมาจากป่าเรียกว่า  “ซุง”  เมื่อนำมาทำการเลื่อยหรือแปรรูปแล้ว  เราเรียกว่า  “ไม้แปรรูป”  ซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กันตามความต้องการของผู้ใช้  หรือหน้าที่ในการใช้งานที่เหมาะสม  ไม้ที่ใช้กันทั่วไปมีการจัดแบ่งไม้แปรรูปด้วยการรับน้ำหนักและความทนทานตามธรรมชาติของไม้ชนิดนั้น ๆ เป็นเกณฑ์  โดยจำแนกไม้ออกเป็น  3  ชนิด  คือ  ไม้เนื้ออ่อน  ไม้เนื้อปานกลาง  และไม้เนื้อแข็ง


เนื้อไม้ธรรมชาติแบ่งตามลักษณะของการรับน้ำหนักและความทนทานดังนี้


1) ไม้เนื้ออ่อน  ส่วนใหญ่เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบ  มีน้ำหนักเบา  ผุง่าย  หดตัว  บิดและร้าวค่อนข้างมาก  ปลวกชอบทำลาย  เหมาะที่จะใช้กับงานชั่วคราว  และงานที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก  ซึ่งมีอยู่มากมาย  ไม้เนื้ออ่อนที่นิยมใช้กันทั่วไปในปัจจุบันมี
ไม้จำปาป่า (Michelia champaca linn)  น้ำหนักประมาณ  620-700  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร  เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมเหลือง  เป็นมันวาว  เสี้ยนตรง  เหนียวดี  ไสแต่งง่าย  ไม่ค่อยหด  บิดตัว  เหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์  ทำไม้บาง
ไม้แดงน้ำ  (Acrocarpus  fraxinifolis W&A) น้ำหนักประมาณ  650-700  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร  เนื้อไม้มีสีแดงอ่อน  มันวาว เนื้อหยาบปานกลางเสี้ยนเป็นคลื่น  เหมาะที่จะใช้กับงานชั่วคราวทั่ว ๆ ไป  หรือใช้งานในร่ม
ไม้มะม่วงป่า  (Mangifera  floribunda  kurz)  น้ำหนักประมาณ  650-700  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนๆ มีริ้วสีน้ำตาลเข้ม  เสี้ยนตรงค่อนข้างหยาบ  ไสแต่งง่าย  เหมาะที่จะทำเฟอร์นิเจอร์แผ่นหน้าไม้อัดเพราะมีลายสวยงาม
ไม้ยมหอม (Cedrela toona roxb)  น้ำหนักประมาณ  400-450  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร  ลักษณะเนื้อไม้สีแดงอ่อนถึงสีอิฐแก่เป็นมันเลื่อม  กลิ่นหอม เสี้ยนตรงและสม่ำเสมอ  น้ำหนักเบา  เนื้ออ่อนเหนียว  ไสแต่งง่าย  เหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และงานฝีมือต่าง ๆ
ไม้ร่มม้า (ซ้อ) (Gmelina  arborea) น้ำหนักประมาณ  400-450  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร  เนื้อไม้สีขาวละเอียด  เสี้ยนตรง  ผึ่งแห้งแล้วอยู่ตัวดี  กลิ่นฉุน  ไสแต่งง่าย  เหมาะที่จะใช้ทำงานเฟอร์นิเจอร์และงานฝีมือต่าง ๆ
ไม้เหียง  (Dipterocarpus  spp)  น้ำหนักประมาณ  650-730  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร   เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง  เสี้ยนตรง เหมาะที่จะใช้งานชั่วคราวและงานในร่ม
ไม้ยาง  (Diptocarpus  spp)  น้ำหนักประมาณ  710-800  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร   เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง  เนื้อแน่น  มียางมาก  หดตัวค่อนข้างมาก  มีความทนทานตามธรรมชาติเพียง  3.5 ปี เหมาะที่จะใช้งานในร่ม  ปัจจุบันนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์


2) ไม้เนื้อปานกลาง  เป็นไม้ที่จัดเข้าประเภทไม้เนื้อแข็งไม่ได้  แต่คุณภาพดีกว่าไม้เนื้ออ่อน  ยืดและหดตัวน้อย  บางชนิดทนต่อสภาพอากาศดีเท่ากับไม้เนื้อแข็ง  จึงเหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ทั่วไป  ไม้เนื้อปานกลางที่นิยมใช้  ได้แก่
ไม้สัก (Tectona grandis  Linn.f.) น้ำหนักประมาณ 650-850 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะของเนื้อไม้แยกออกเป็น 3 ชนิด  คือ
* ไม้สักทอง  เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุด  ลักษณะเนื้อไม้จะมีสีเหลืองทอง  เมื่อทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแก่  เสี้ยนตรงมีเส้นแทรกสีเข้มเล็กน้อย  ทำให้เห็นเส้นลายตามธรรมชาติ  สวยงามมาก  ไม้สักจึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป  โดยเฉพาะใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์  คือ เนื้อไม้จะมีน้ำมันในตัว  ปลวกและมอดไม่ทำลาย  ทนต่อสภาพอากาศดีมาก  ผึ่งแห้งแล้วอยู่ตัวดี  ไสแต่งง่าย  ทาสีธรรมชาติแล้วจะสวยงามมากว่าไม้ชนิดอื่น
* ไม้สักขี้ควาย  สีค่อนข้างไปทางดำและเนื้อหยาบเล็กน้อย  ไสง่ายรับน้ำหนักได้น้อยกว่าไม้สักทอง   สีและความสวยงาม
จะลดลงไปเล็กน้อยกว่าไม้สักทอง
*  ไม้สักหิน  เนื้อละเอียด  แน่น  มีสีดำและมีน้ำหนักมากกว่าไม้สักทองและสักขี้ควาย    ไสแต่งยากและความสวยงามด้อย
กว่าไม้สักขี้ควาย
ไม้อินทนิน (Lagerstroemia flos-reginae  retz) น้ำหนักประมาณ  830-900  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้มีสีแดงเรื่อ ๆหรือสีชมพูอ่อน  เมื่อทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาลอมแดง  เสี้ยนตรงเนื้อละเอียดเป็นมันไสแต่งก็ง่าย  ทาน้ำมันได้สวยงามเหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และงานก่อสร้างที่อยู่ในร่ม
ไม้ตะแบก (Lagerstroemia  calyculata  kurz)  น้ำหนักประมาณ  750-800    กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร    ลักษณะเนื้อไม้มีสีเทาหรือน้ำตาลอมเทา    เสี้ยนตรงหรือเกือบตรง   เนื้อละเอียดปานกลาง  เหนียว  ไสแต่งง่าย  เหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์  ทำพื้นปาเก้  งานก่อสร้างที่อยู่ในร่มและด้ามเครื่องมือกสิกรรม
ไม้โมกมัน  (Wrightia  tomentosa  ROEM &  SCHULTES  )  น้ำหนักประมาณ  630-680  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้มีสีขาวนวล  เสี้ยนตรง  เนื้อละเอียดสม่ำเสมอ  ไสแต่งง่าย  เหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรืองานประณีต  นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในงานแกะสลักและงานศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน
ไม้ยมหิน  (Chukresia  valutina  W&A)  น้ำหนักประมาณ  630-750  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมเหลือง  เป็นมัน  เสี้ยนตรง  เนื้อละเอียดและสม่ำเสมอ  เหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และงานที่ประณีตทั่วไป


3)  ไม้เนื้อแข็ง  ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักมาก  เนื้อแน่น  แข็งแรงและเหนียว  มีทั้งเนื้อหยาบจนถึงเนื้อละเอียด  บางชนิดเสี้ยนตรง  แต่ส่วนมากเสี้ยนจะสับสน  การไสแต่งการเลื่อยค่อนข้างยาก  ทนต่อสภาพอากาศ  ใช้กับงานก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ได้ดี  แต่บางชนิดทำเฟอร์นิเจอร์ก็สวยงามมาก  น้ำหนักค่อนข้างหนัก  ไม้เนื้อแข็งที่นิยมใช้ได้แก่
ไม้แดง  (Xylia  kerri  Craib) น้ำหนักประมาณ  960-1,100  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้มีสีแดงเรื่อ ๆ หรือน้ำตาลอมแดงเนื้อละเอียดแข็งเหนียว  เสี้ยนจะเป็นคลื่น  ยืดและหดตัวน้อย  แมลงไม่ค่อยรบกวน  ติดไฟยาก  ไสแต่งค่อนข้างยาก  เหมาะที่จะใช้งานก่อสร้างที่รับน้ำหนักมาก ๆ ทำเฟอร์นิเจอร์ก็ได้  ปูปาเก้ก็สวยงาม  ทนต่อทุกสภาพอากาศ
ไม้ประดู่  (Plerocarpus  macrocarpus   Kurz)  น้ำหนักประมาณ  960-1,100  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้มีสีแดงอมเหลืองถึงแดงอิฐ  มีลายเส้นแก่กว่าสีพื้นเล็กน้อย  เป็นลาย  สีสวย  ไสแต่งยาก  แข็งแรง  ทนทาน  ใช้กับงานก่อสร้างได้ดี และใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการแสดงพื้นผิวที่งดงาม  โดยเฉพาะปุ่มของไม้ประดู่มีลวดลายสวยงามและมีราคาแพง  นิยมใช้ทำเก้าอี้และเครื่องใช้ที่ต้องการความงามเป็นพิเศษ  (ต่างประเทศ  เรียกว่า  โรสวู้ด  Rose  Wood)
ไม้มะเกลือ  (Diosporos  moilis  GRIFF) น้ำหนักประมาณ  1,154-1,186  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร  ลักษณะมีสีเทาเข้ม จนกระทั่งดำสนิท  เสี้ยนตรง  เนื้อไม้ละเอียด เป็นมันในตัว  มีความแข็งมาก  นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาแพง  โดยเฉพาะนำไปประดับมุก  นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น  ลูกคิด ตะเกียบ  หมากรุก  งานแกะสลัก  เครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ เช่น  ระนาด  เปียโน  เป็นต้น
ไม้เต็ง (แงะ) (Shorea  obtusa  Wall)  น้ำหนักประมาณ  960-1,100  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้เลื่อยใหม่ ๆ มีสีน้ำตาลอ่อน  เมื่อทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาลแกมแดง  เนื้อหยาบ  เสี้ยนสับสน  ไสแต่งยาก  แข็งและเหนียว  ทนต่อสภาพอากาศ เหมาะกับงานก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ
ไม้รัง  (เปา)  (Pentacme  suavis  Adc)  น้ำหนักประมาณ  960-1,050   กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้เต็งมาก  จนบางครั้งเรียกรวมกันว่า  ไม้เต็งรัง  เนื้อไม้ละเอียดกว่าไม้เต็งเล็กน้อย  ไสง่าย  เสี้ยนไม่สับสน  เหมาะที่จะใช้ทำวงกบประตู– หน้าต่าง  และใช้งานก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ
ไม้มะค่าโมง  (Afzelia  xylocarpa  Craib)  น้ำหนักประมาณ  960-1,050   กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร  ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมเหลือง  เสี้ยนหยาบ  มีริ้วแทรกเป็นลาย  สีสวยมาก  แข็งและเหนียว  เมื่อเปียก ๆ ไสแต่งยาก  แห้งแล้วไสง่าย  ใช้กับงานก่อสร้างที่รับน้ำหนักมาก ๆ และใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และพื้นปาเก้
ไม้ตะเคียนทอง  (Balanocapus  heimii  King)  น้ำหนักประมาณ 860-950  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้มีสีเหลืองหม่น  หรือสีน้ำตาลอมเหลือง  เนื้อละเอียดปานกลาง     แข็งและเหนียว  ปลวกมอดไม่ค่อยทำลาย  ทนต่อสภาพอากาศได้ดี  เหมาะที่จะใช้กับงานก่อสร้างที่รับน้ำหนักมาก ๆ ทำวงกรอบประตูหน้าต่างและใช้ทำเฟอร์นิเจอร์
ไม้พยุงหรือไม้ประดู่ลาย  (Dalanocapus  hemii  Pierre)  น้ำหนักประมาณ 1,000-1,200 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลักษณะเนื้อไม้สีแดงอมม่วง  หรือสีม่วงถึงสีเลือดหมู  เป็นมัน  สีลายสีเข้มกว่าสีพื้น  เนื้อละเอียด  เหนียวทนทาน  เหมาะที่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และงานแกะสลัก
ไม้ชิงชัน  (Dalbergia  oliveri  Gamble)   น้ำหนักประมาณ  1,000-1,200  กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร   ลักษณะเนื้อไม้สีม่วงอ่อนจนถึงสีม่วงแดง  สีลายเป็นสีแก่กว่าสีพื้น  เนื้อละเอียดแข็งและเหนียว ทนทานมาก ใช้กับงานที่รับน้ำหนักมาก ๆ ได้ดี  ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ที่แข็งแรง และยังเหมาะที่จะใช้ทำเครื่องมือช่างไม้  เช่น  กบไสไม้  ขอขีดไม้  เป็นต้น

 

ไม้เนื้อแข็ง  ไม้เนื้อปานกลาง  และไม้เนื้ออ่อน  มีความแข็งแรงและความคงทนแตกต่างกัน  ดังตารางที่ 1  ดังนี้
ตารางที่ 1  แสดงความแข็งแรงและความทนทานของไม้ชนิดต่าง ๆ   ตามธรรมชาติ

ตำหนิของไม้  คือ  ความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในเนื้อไม้  ซึ่งอาจทำให้ไม้ขาดความแข็งแรง  ความทนทานและความสวยงาม  ตำหนิของไม้  เช่น

 ตาไม้  เป็นตำหนิของไม้ชนิดหนึ่งที่พบเห็นกันอยู่เสมอ  ถึงแม้ว่าบางตาอาจจะมีความสวยงาม  แต่ก็ทำให้ทิศทางและแนวของเสี้ยนไม้ขาดตอนลง  ทำให้เสียความแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม้ถูกนำไปใช้ในลักษณะที่ต้องรับแรงดึง  เช่น  ใช้เป็นตงหรือคาน  อาจจะทำให้ตาไม้แตกหักได้ง่าย  นอกจากจะจัดให้ไม้ส่วนที่มีตานี้รับแรงอัดก็สามารถนำมาใช้งานได้

รอยร้าว  เป็นรอยแยกตามเสี้ยนไม้  ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวงปี  หรือเกิดจากการโค่นไม้ที่ได้รับการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง  หรือเกิดจากการที่ต้นไม้ถูกพายุพัดโยกแรง ๆ   ทำให้เกิดรอยแยกระหว่างวงปีเก่ากับวงปีใหม่  รอยแยกดังกล่าวจะขยายต่อไปตามความยาวของไม้ทำให้ความแข็งแรงหรือความต้านทานต่อแรงเฉือนตามแนวนอนลดลง จึงไม่นิยมใช้กับงานที่รับกำลังมาก ๆ

รอยปริ  เป็นรอยแยกตามเสี้ยนไม้เช่นกัน    เกิดจากการหดตัวอย่างไม่สม่ำเสมอของไม้ขณะผึ่ง  เป็นได้ทั้งปลายไม้  กลางไม้ หรือตลอดแนว  ไม้ที่มีรอยปรินั้นจะเสียความแข็งแรงในลักษณะเดียวกันกับไม้ที่มีรอยร้าว  คือรับน้ำหนักมาก ๆ ไม่ได้

การผุของไม้   ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา  อันเนื่องมาจากการกองไม้ไม่ถูกวิธี  ทำให้ไม้แห้งช้ามาก เกิดเชื้อรา  ทำให้ไม้ผุเปื่อย  เซลล์ของไม้ขาดการยึดเกาะที่ดี  ไม่สามารถรับน้ำหนักได้

การขวางหรือทแยงของเสี้ยนไม้  จะทำให้ขาดความแข็งแรงในเรื่องของการรับน้ำหนักในทางรับแรงดึงและยังทำให้ไม้แตกร้าวบิดงอได้ง่าย

มอดและด้วงป่า  เป็นสัตว์ที่เกิดกับต้นไม้และเจาะไม้กินเป็นอาหารตั้งแต่ไม้ยังยืนต้นดีอยู่  เมื่อนำไปเลื่อยก็จะเห็นตำหนิของไม้เป็นรูเล็กบ้างใหญ่บ้างตามขนาดของด้วงหรือหนอนชนิดนั้น ๆ  ไม้ที่เป็นรูมอด  นอกจากจะขาดความแข็งแรงแล้ว  ยังขาดความงามไปด้วยต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะของ อาจต้องใช้เทคนิคในการอุด  ปะ โดยใช้ไม้ชนิดเดียวกันและสีเดียวกัน  ติดกาวให้มีความแข็งแรงก็สามารถใช้ได้

เกิดจากมนุษย์หรือเครื่องมือกล  ตำหนิซึ่งเกิดจากการเลื่อย  การเจาะหรือผ่าไม้โดยไม่ตั้งใจ  เป็นการทำงานที่ผิดพลาด    หรือการใช้เครื่องมือที่ไม่ถูกต้อง  เช่น ไสไม้ย้อนเสี้ยนโดยใช้กบไม่ถูกวิธี ทำให้ไม้ถก  ฉีกออกจนเป็นตำหนิ  การเลื่อยบาก  เจาะผิดข้างทำให้ต้องปะหรืออุด   ทำให้เป็นตำหนิได้เช่นกัน

 

ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์
       การเลือกไม้เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ต้องพิจารณาถึงความสวยงามค่อนข้างมาก  ต้องเป็นไม้ที่แห้ง  เสี้ยนตรง ไม่มีรู ตาไม้ รอยแตกร้าวไม่มีกระพี้ไม้  อย่างไรก็ตาม  ต้องพิจารณาถึงลักษณะของงานและส่วนที่ต้องใช้ไม้นั้นด้วย  เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกใช้แต่ไม้ดี ๆ ได้ทั้งหมดจำเป็นต้องเอาไม้ที่ดีรองลงไปมาใช้ร่วมด้วยในส่วนที่อยู่ภายในหรือส่วนที่มองไม่เห็น  งานในส่วนที่ต้องโชว์ลักษณะไม้  ได้แก่  ส่วนที่มองเห็นชัดเจน  เช่น  พื้นโต๊ะ  หน้าตู้  หน้าลิ้นชัก  เป็นต้น  ต้องเลือกใช้ไม้ที่มีความสวยงาม  เส้นลายไม้ตรง  สีสวย  ไม่มีตาไม้หรือรอยแตกร้าว ถ้าจำเป็นต้องเพลาะไม้เป็นแผ่นใหญ่  ต้องให้ลายไม้เรียงกันไปในลักษณะเดียวกัน  หรือถ้าเป็นงานที่ต้องใช้ไม้ในแนวตั้ง  ก็ให้เอาลายไม้ที่มีรูปร่างแหลมตั้งขึ้นให้เหมือนกัน  จะช่วยทำให้เกิดความสวยงาม มีระเบียบและส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกว่าแข็งแรงดีไปด้วย  ถ้ากลับเอาลายไม้ที่มีมุมแหลมเล็กลงด้านล่าง  จะทำให้บานตู้นั้นหมดคุณค่าด้านความสวยงามไปอย่างมาก.