พรรณไม้แห้ง

เบื้องหลังจากต้นสู่…แผง

นางสาวพัชณี  ศรีคำสุข
สาขาวิชาชีววิทยา

“พรรณไม้แห้ง” เป็นวิธีการเก็บรักษา และรวบรวมไว้อย่างเป็นระเบียบในพิพิธภัณฑ์ (museum)ในทางพฤกษศาสตร์เรียกการทำเฮอร์บาเรียม (herbarium) โดยใช้วิธีอัดพรรณไม้ให้แห้งด้วยแผงอัด (presses) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อ
(1) นำมาวิเคราะห์หาชื่อทางวิทยาศาสตร์ (scientific name) และจำแนกตามหมวดหมู่ให้ถูกต้อง
(2) เก็บไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการวิเคราะห์หาชื่อพรรณไม้ครั้งต่อไป และส่งไปแลกเปลี่ยนกับสถาบันทางพฤกษศาสตร์แหล่งอื่นๆ ทั้งใน และต่างประเทศ
(3) ทำให้ทราบปริมาณ ถิ่นกำเนิด และการกระจายพันธุ์ของพรรณไม้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาด้านอื่นๆ
(4) ช่วยแก้ปัญหากรณีที่ไม่สามารถหาตัวอย่างพรรณไม้จริงมาศึกษาได้ เนื่องจากความจำเพาะของฤดูกาล และการเจริญเติบโตในบางท้องที่เท่านั้น
อุปกรณ์และเครื่องมือ ในการอัดพรรณไม้ ถือเป็นปัจจัยหลักของการเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง
ซึ่งผู้ใช้สามารถเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ได้เองตามความเหมาะสม ประกอบด้วย
(1) แผงอัดพรรณไม้ เป็นเครื่องมือที่สามารถประยุกต์ทำมาจากวัสดุต่างๆ ได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้งาน โดยผู้ที่มีความรู้ในด้านการออกแบบเครื่องมือสามารถที่จะทำขึ้นมาจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ทั้งไม้ และโลหะเบา โดยส่วนใหญ่เพื่อความสะดวก ประหยัด จึงนิยมใช้ไม้ไผ่ โดยทำเป็นแผงสองแผงมีความกว้าง 30 ซ.ม. ยาว 45 ซ.ม. ใช้เชือกสองเส้นมัดหัวท้ายของแผง (ภาพที่ 1)

 ภาพที่ 1 ตัวอย่างแผงอัดพรรณไม้

 (2) กระดาษอัดพรรณไม้ โดยปกติใช้กระดาษฟางเพราะดูดความชื้นได้ดี แต่เพื่อความประหยัด และสะดวก สามารถประยุกต์โดยการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ แทนได้  รวมทั้งกระดาษลูกฟูกที่ใช้เพื่อช่วยให้พรรณไม้ที่อัดเรียบดียิ่งขึ้นซึ่งทำจากกล่องที่ใส่ของแล้ว (ภาพที่ 2)

(ก) (ข)

ภาพที่ 2 กระดาษอัดพรรณไม้:
(ก) กระดาษหนังสือพิมพ์ และ (ข) กระดาษลูกฟูก

(3) เครื่องมือที่ใช้ตัด และขุด ได้แก่ มีด กรรไกรตัดกิ่ง ขวาน เสียม พลั่วมือ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเก็บ ตกแต่งพรรณไม้ให้ได้ขนาด และไม่เกิดความเสียหายบอบช้ำ ซึ่งเครื่องมือต่างๆ ที่กล่าวแล้วนั้นผู้ที่มีความรู้ในการทำเครื่องมือเหล่านี้สามารถที่จะออกแบบเครื่องมือที่มีความเหมาะสม กระทัดรัดเหมาะแก่การพกพาได้เอง
(4) ถุงพลาสติกหรือกล่อง ใช้สำหรับใส่พรรณไม้เมื่อเก็บจากต้น ในกรณีที่ไม่ได้นำแผงอัดพรรณไม้ไปด้วย
(5) ป้ายกระดาษแข็ง ใช้สำหรับจดบันทึกหมายเลขผูกติดกับตัวอย่างพรรณไม้ทุกชิ้นที่เก็บ ป้องกันการสับสน โดยใช้ดินสอในการเขียนบันทึก
(6) สมุดบันทึก สำหรับบันทึกข้อความรายละเอียดสำคัญต่างๆ ได้แก่ สถานที่เก็บ ความสูงจากระดับน้ำทะเล  วัน เดือน ปี ที่เก็บ  ชื่อพื้นเมือง  ชื่อผู้เก็บ และหมายเลข  รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ

วิธีการอัดพรรณไม้

(1) จัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น แผงอัด กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษลูกฟูก และพรรณไม้
(2)   พรรณไม้ที่จะอัดต้องคัดเลือกส่วนที่ไม่เป็นโรค ถูกแมลงทำลาย โดยต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ดอก ผล ใบ ทำการตัดแต่งให้สวยงาม ไม่ควรมีใบ หรือดอกหนาแน่นเกินไป

 (ก) (ข) (ค) (ง)

ภาพที่ 3 วิธีอัดพรรณไม้: (ก) การนำพรรณไม้มาจัดเรียงบนกระดาษ (ข) ปิดกระดาษและนำ
ไปวางบนกระดาษลูกฟูก (ค) นำกระดาษลูกฟูกและแผงอัดพรรณไม้มาปิดทับ
ตัวอย่างอีกชั้น และ (ง) ใช้เชือกมัดหัวท้ายแผงอัด (กดให้แน่น)

(3) นำพรรณไม้ไปจัดเรียงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ซึ่งมีกระดาษลูกฟูกรองพื้น 1 แผ่น ด้านล่างสุดเป็นแผงอัด 1 แผง โดยจัดเรียงให้ใบคว่ำบ้างหงายบ้างปะปนกัน ส่วนของลำต้นที่ยาวเกินไปควรพับเป็นรูปตัววี (V) ตัวเอ็น (N) หรือตัวดับเบิ้ลยู (W) จากนั้นนกระดาษหนังสือพิมพ์วางปิดทับข้างบนพรรณไม้หลายๆ ชั้น และใช้กระดาษลูกฟูกทับอีกชั้นหนึ่ง และทำการอัดตัวอย่างชิ้นต่อไปเช่นเดียวกับ
ชิ้นแรกจนหมด หรือมากพอสมควรไม่ควรซ้อนกันหนาเกินไป จึงปิดทับด้วยกระดาษลูกฟูก และวางแผงอัดที่เหลือทับลงไป แล้วใช้เชือกมัดหัวท้ายแผงอัด และกดให้แน่น (ภาพที่ 3)

(4) นำแผงอัดที่ได้ไปเข้าตู้อบ หรือตากแดดให้แห้งทันที เพื่อไม่ทำให้พรรณไม้ขึ้นรา หรือเน่า
(5)  หลังจากพรรณไม้ที่อัดแห้งเรียบร้อยแล้วก่อนนำไปเย็บติดกระดาษเย็บพรรณไม้ควรอาบน้ำยากันเชื้อราหรือแมลงซึ่งจะสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเวลาหลายสิบปี
(6)  การเย็บพรรณไม้ หลังจากอาบน้ำยากันรา แมลง และอบแห้งดีแล้วต้องนำพรรณไม้มาเย็บติดกับกระดาษแข็งสีขาวโดยการวางพรรณไม้บนกระดาษแข็งแล้วใช้เข็มกับด้ายเย็บเพื่อสะดวกในการนำเข้าออกมาตรวจดูหรือศึกษา และไม่หลุดหักง่าย (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4

 (7)  การเก็บพรรณไม้แห้ง หลังจากเย็บตัวอย่างพรรณไม้ติดกระดาษเรียบร้อยแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้ที่ทำเป็นชั้นๆ โดยแยกไว้เป็นวงศ์ หรือสกุล เรียงตาม ตัวอักษรเพื่อสะดวกในการค้นหา

เอกสารอ้างอิง
ประนอม  จันทรโณทัย.  2544.  อนุกรมวิธานพืช.

ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ภูวดล  บุตรรัตน์.  2528. เทคนิคทางชีววิทยา.   กรุงเทพฯ.